กฟผ. ร่วมกับ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์นวัตกรรมด้านการออกแบบอุตสาหกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกําแพงแสน ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 อัจฉริยะ สำหรับเครื่องปรับอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2565

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการโครงการ “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผลิตและนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและมีราคาที่เหมาะสม สร้างแรงจูงใจ สร้างทัศนคติ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชน รวมถึงสนับสนุนและแสวงหาเทคโนโลยีการประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า และการบริหารการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประเทศชาติโดยรวม ดังนั้นนับเป็นเวลากว่า 30 ปีที่ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ของ กฟผ. เป็นที่คุ้นเคยของประชาชนผู้บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ กฟผ. เปิดให้เข้าร่วมโครงการที่ประชาชนจะต้องพิจารณาว่าเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีการติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 หรือไม่ ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ในช่วงเวลา 30 ปีทีผ่านมา กฟผ. มีการพัฒนาปรับปรุงรายละเอียดของฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 มาโดยตลอดทั้งในเรื่องของเกณฑ์ประสิทธิภาพพลังงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในแต่ละผลิตภัณฑ์ รวมถึงรายละเอียดของตัวฉลากในด้านของการออกแบบฯ (Appearance) เพื่อให้ประชาชนหรือผู้บริโภคสามารถทราบถึงรายละเอียดการใช้พลังงานของแต่ละผลิตภัณฑ์มากที่สุด

          อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าโลกได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ หลายองค์กรให้ความสำคัญกับการพลิกรูปแบบการทำธุรกิจโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับธุรกิจขององค์กรตัวเองหรือที่เรียกว่า “Digital Transformation” ด้วยการลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและไอที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วงชิงโอกาสและความสามารถในการแข่งขัน มีการประมาณการสถิติต่างๆ จากหลายหน่วยงานในเรื่องของ Digital Transformation อาทิเช่น มูลค่าการลงทุนทั้งโลกในเรื่อง Digital Transformation จะมีมูลค่าถึง 1.97 พันล้านเหรียญในปี ค.ศ. 2022 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี ค.ศ. 2017 ถึง ค.ศ. 2022 ที่ปีละ 16.7% ดังนั้น Digital Transformation คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์รูปแบบกระบวนการทางธุรกิจใหม่ (Business Model) ที่แตกต่างด้วยการนำเสนอคุณค่าใหม่ (New Value) สำหรับลูกค้าและพนักงานเพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตทั้งในตลาดเก่าและตลาดใหม่ โดยที่ประโยชน์ของการทำ Digital Transformation ประกอบด้วย การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค (Transforming Customer Experience) การใช้ประโยชน์จากข้อมูลขององค์กร (Data-Based Insights) ทั้งในแง่ของพฤติกรรมของผู้บริโภคและการตลาดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในองค์กร (Greater Collaboration Across Departments) และรวมถึงการทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรทั้งในแง่ของความคล่องตัวและการริเริ่มนวัตกรรม (Agility and Innovation)

          ดังนั้น โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้นำในเรื่องการติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมทั้งในเรื่องของ การรับรู้ของตราสินค้าของผู้บริโภค (Brand Perception) และคุณค่า (Value) ที่ประชาชนทั้งประเทศได้รับจากโครงการนี้มีความจำเป็นที่จะต้องก้าวสู่ Digital Transformation เพื่อเพิ่มคุณค่าใหม่ให้กับฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 แก่ประชาชน ผู้บริโภค และรวมถึงการสร้างรูปแบบการดำเนินการธุรกิจใหม่ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ผู้คิดริเริ่มโครงการนี้ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โดยเป็นหน่วยทดสอบค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในโครงการฯ รวมถึงมีส่วนศึกษาในการกำหนดค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานในหลายผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับคุณค่าฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และยังเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล จึงเห็นควรนำเสนอ “โครงการศึกษาวิจัยฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 อัจฉริยะ (Smart No.5 Labelling)” ต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อศึกษาแนวทาง ความเป็นไปได้ รูปแบบการดำเนินการธุรกิจ เทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนต่อต่อฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล โดยเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับประชาชนคนไทยที่มีความผูกพันธ์กับฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 มาอย่างยาวนานให้ได้ประโยชน์สูงสุด